23 มกราคม 2025
พี่น้องครับ ในเอกสารประกอบการสัมมนา “ประเด็นปัญหาและกรณีศึกษาด้านบัญชีและการรวบรวมหลักฐานการสอบบัญชี” โดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ ระบุกรณีศึกษาเกี่ยวกับ TFRS ในหลากหลายกรณี ผมจะทยอยนำประเด็นเหล่านั้นมาอธิบายให้กับพี่น้องทราบ ซึ่งมีประโยชน์กับการสอบ CPA AC1 - AC2
เรื่องแรก คือการประเมินหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด (Cash Generating Unit – CGU) ตาม TAS 36 ของกิจการ Chain Store
“หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด (CGU)” เป็นหน่วยนับทางบัญชี (unit of account) ที่ใช้กำหนดกลุ่มของสินทรัพย์หรือการดำเนินงานขององค์กรที่สามารถสร้างกระแสเงินสดส่วนใหญ่ที่เป็นอิสระจากกลุ่มอื่น โดย CGU เป็นแนวคิดที่ใช้ใน TAS 36 ซึ่งกำหนดให้รับรู้และวัดค่าผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์
ทั้งนี้ กิจการต้องรับรู้และวัดค่าผลขาดทุนจากการด้อยค่าของ CGU (ไม่ใช่วัดค่าที่สินทรัพย์แต่ละรายการ) แล้วจึงปันส่วนผลขาดทุนจากการด้อยค่าที่คำนวณได้ให้กับสินทรัพย์แต่ละรายการที่เป็นส่วนประกอบของ CGU นั้นๆ
ตัวอย่างต่อไปนี้อยู่ใน TAS 36 ซึ่งจะให้ความกระจ่างกับพี่น้อง:
สำหรับกลุ่มร้านขายปลีกที่มีเจ้าของเดียวกัน (ขอให้นึกถึง 7-11) ที่ร้านลูกอยู่ในกลุ่มของร้านขายปลีกแม่ สินค้าทั้งหมดของร้านลูกซื้อผ่านแผนกจัดซื้อของร้านแม่ นโยบายเกี่ยวกับการตั้งราคา การตลาด การโฆษณาและบุคลากร กำหนดและตัดสินใจโดยร้านแม่ ยกเว้นการจ้างพนักงานเก็บเงินและพนักงานขายของ นอกจากนี้ร้านแม่เป็นเจ้าของร้านอื่นๆ อีก 5 ร้านในละแวกอื่นในจังหวัดเดียวกับร้านลูก และเป็นเจ้าของร้านในจังหวัดอื่นอีก 20 ร้าน ร้านทุกร้านดำเนินการเหมือนกับร้านลูก ร้านแม่ซื้อร้านลูกและร้านค้าขาย ปลีกอื่นๆ อีก 4 ร้านมาเมื่อ 5 ปีก่อน โดยมีการบันทึกค่าความนิยมจากการซื้อครั้งนั้น
เนื่องจากร้านค้าลูกแต่ละร้านมีการทำรายงานภายในเสนอฝ่ายบริหารแยกจากกัน ร้านค้าทั้งหมดอยู่ในละแวกที่ต่างกันและอาจมีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน กระแสเงินสดรับส่วนใหญ่ของร้านลูกไม่ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดรับของร้านอื่นๆ ที่ร้านแม่เป็นเจ้าของ “จึงถือว่าร้านลูกแต่ละร้าน คือ หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด”
ดังนั้นหากกิจการจะรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่า กิจการต้องประเมินข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าของแต่ละสาขา หากสาขาใดไม่ด้อยค่า กิจการย่อมไม่ต้องลงรายละเอียดในสินทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของสาขานั้นๆ แต่หากสาขาใดด้อยค่า ก็ให้ Focus การรับรู้ผลขาดทุนของสาขานั้นก็พอ