16 มกราคม 2025
หากมูลค่าที่ได้รับคืน (recoverable amount - RA) ลดต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีของหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดย่อมสร้างความปวดหัวให้กับกิจการ เพราะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าตาม TAS 36 ซึ่ง RA คือมูลค่าที่มากกว่าระหว่าง “มูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนการขาย (FVLCTS)” กับ “มูลค่าจากการใช้ (VIU)”
ในทางปฏิบัติ หลายๆ กรณีกิจการจะไม่สามารถหา FVLCTS ได้ หากสินทรัพย์ดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะจนเกินไป ด้วยเหตุนี้กิจการจึงต้องกำหนด RA ด้วยการคำนวณ VIU ดังนั้น การคำนวณ VIU จึงสำคัญต่อการประเมินผลขาดทุนจากการด้อยค่า เป็นอย่างมาก
Listed Co. ส่วนใหญ่ย่อมมีแรงจูงใจในการสร้างตัวเลขกำไรให้สวยๆ ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะประมาณการห้ VIU สูง ด้วยเหตุนี้ TAS 36 จึงตีกันไม่ให้นำ “ประมาณการกระแสเงินสดจากโครงการในอนาคต หรือจากการปรับโครงสร้างในอนาคตมารวมคำนวณ VIU”
ตามการอธิบายต่อไปนี้:
มูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ หมายถึง มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตจากการใช้สินทรัพย์อย่างต่อเนื่องและจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ณ วันสิ้นอายุการใช้งาน โดย TAS 36 ย่อหน้า 33 กำหนดให้กิจการประมาณการกระแสเงินสด โดยอาศัยข้อสมมติที่สมเหตุสมผลและมีหลักฐานสนับสนุนซึ่งแสดงถึงการคาดการณ์ที่ดีที่สุดของฝ่ายบริหารภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเป็นอยู่ตลอดอายุการให้ประโยชน์ที่เหลืออยู่ของสินทรัพย์ ซึ่งใช้ประมาณการกระแสเงินสดจากงบประมาณ หรือประมาณการทางการเงินล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายบริหาร “แต่ต้องไม่รวมประมาณการกระแสเงินสดรับหรือจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างในอนาคต หรือจากการปรับปรุงหรือทำให้สินทรัพย์นั้นดีขึ้น”
กล่าวโดยสรุป พี่น้องห้ามนำกระแสเงินสดจากการปรับโครงสร้างในอนาคตมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของ VIU ขอให้ศึกษาจากโจทย์ข้อ 1/2557 จะช่วยให้เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น สู้เขานะครับ